วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทุ่งสังหาร The Killing Fields

ทุ่งสังหาร The Killing Fields
ระดับ 4 ดาว
ไล้ฟ์แอนไทมส์

หนังสือชีวประวัติ หรือถ้าเขียนเองจะเรียกอัตชีวประวัตินั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท อย่างแรกคือประวัติบุคคลสำคัญของโลก ซึ่งจะต้องมีความน่าสนใจแน่ๆ อีกประเภทคือชีวประวัติของคนที่ไม่สำคัญ แต่บังเอิญมีชีวิตอยู่ในช่วงที่เหตุการณ์ตอนนั้นมีความสำคัญ ชีวิตของบุคคลคนนั้นจึงพลอยมีความสำคัญ หรืออย่างน้อย มีความน่าสนใจตามไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ประวัติของ อด็อฟ ฮิตเลอร์ น่าสนใจและมีความสำคัญแน่ๆ แต่ก็มีหนังสือชื่อ ไดอารีออฟแอนแฟร้งค์ ที่ดังมากๆ แอนแฟร้งค์เป็นเด็กสาวชาวยิว ช่วงที่พรรคนาซีครองเมืองและจับบรรดาชาวยิวเข้าค่ายกักกัน พ่อของเธอพาคนในครอบครัวหนีขึ้นไปหลบบนต้องใต้หลังคา แอนแฟร้งค์บันทึกเหตุการณ์ในช่วงนั้นเอาไว้ ไม่นาน ครอบครัวของเธอก็ถูกทหารนาซีค้นพบ ทั้งหมดถูกจับตัวไป แอนแฟร้งค์ไปเสียชีวิตในค่ายกักกัน

หนังสือชีวประวัติจะเน้นเรื่องของไล้ฟ์แอนไทมส์ คือชีวิตของเขา และช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ The Killing Fields ก็ทำมาจากบทความชิ้นหนึ่ง เป็นไล้ฟ์แอนไทมส์ของนักข่าว 2 คน คือ ซิดนี่ย์ แซนเบิร์ก กับ ดิพ ปราน

ต้นปี 1972 นักข่าวจากนิวยอร์คไทมส์ ซิดนีย์ แซนเบิร์ก ได้เดินทางไปกัมพูชาเพื่อทำข่าวสงครามระหว่างเขมรแดงและฝ่ายรัฐบาล โดยมีผู้ช่วยเป็นชาวเขมร คือ ดิพ ปราน ทั้งสองไม่ใช่บุคคลสำคัญในเหตุการณ์ช่วงนั้น แต่ไล้ฟ์แอนไทมส์ของทั้งคู่ดำเนินควบคู่ไปกับสงครามในช่วงนั้น ยิ่งทั้งคู่เป็นนักข่าว จึงเกาะติดกับเหตุการณ์ในช่วงนั้นอย่างแนบแน่น ชีวิตของทั้งสองจึงมีความน่าสนใจขึ้นมาทันที

ว่ากันตามจริง ชีวิตนักข่าวอเมริกันอย่างซิดนีย์ แซนเบิร์ก ค่อนข้างสะดวกสบาย และเอาเข้าจริงๆ ตัวซิดนีย์ แซนเบิร์กเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อย่างผิวเผินมาก แต่พอบางช่วงที่พวกเขาต้องเกือกถูกทหารเขมรแดงฆ่า แต่รอดมาเพราะได้ดิพ ปราน ไปกล่อมพวกทหาร ร้องชีวิตนักข่าวฝรั่งอยู่นาน เราก็ได้เห็นว่า ขนาดนักข่าวเส้นใหญ่อย่างนักข่าวอเมริกัน ในบางสถานการณ์ยังเอาชีวิตแทบไม่รอด นับประสำมหาอะไรกับบรรดาประชาชนคนเขมรธรรมดาๆ อันตรายยิ่งเข้ามาใกล้ตัวเอาได้ง่ายๆยิ่งกว่า

หนังเรื่องนี้ยกกองมาถ่ายทำในเมืองไทยประมาก 90 เปอร์เซ็นต์ของหนัง โดยใช้โลเกชั่นของไทยแทนประเทศเขมร ยกกองไปถ่ายทำในเขมรจริงๆไม่ได้หรอกครับ ทำหนังด่าประเทศเขานี่ ใครจะยินดีต้องรับ ช่วงที่มาถ่ายทำในไทยใช้เวลานานหลายเดือน และเป็นข่าวใหญ่มากในวงการบันเทิงอยู่พักใหญ่ หนังใช้ทีมงานคนไทยไปร่วมงานอยู่หลายคน ผู้กำกับหนัง เปี๊ยก โปสเตอร์ ก็ทำงานในหนังเรื่องนี้ด้วยในตำแหน่งผู้ช่วยผู้กำกับ คุณเปี๊ยกเล่าให้ฟังว่า ฝรั่งถามว่าคุณเป็นผู้กำกับหนังไทยใช้ทุนสร้างหนังหนึ่งเรื่องเท่าไหร่ เปี๊ยกตอบว่า 3 ล้านบาท ฝรั่งพูดว่า ยูจะบ้าเหรอ 3 ล้านบาท ค่าตัวดาราฮอลลีวูดยังไม่พอเลย

นึกถึงเรื่องนี้ ผมก็นึกถึงฟอร์มของหนังไทยในช่วงนั้น ซึ่งน่าจะตรงกับหนัง บุญชูผู้น่ารัก ภาค 1 หรือหนัง นวลฉวี ทุนสร้างหนังไทยยุคนั้น 1 เรื่องก็ประมาณ 3 ล้านบาทอย่างที่ว่า ถ้าเอา The Killing Fields ไปเทียบกับหนังทุนสร้าง 3 ล้านบาทของไทยยุคนั้น หนัง The Killing Fields จะกลายเป็นหนังฟอร์มยักษ์ไปเลย

The Killing Fields มาดูยุคนี้ อะไรหลายๆอย่างก็ดูเชยๆไปแล้วละครับ ทั้งมุมกล้อง ฉาก เสื้อผ้า รวมถึงการเล่าเรื่อง ดูครึ่งแรกก็เซ็งๆอยู่เหมิอนกัน แต่พอดูไปได้ครึ่งเรื่อง พอปรับตัวเข้ากับความเชยของหนังได้แล้ว ทีนี้รู้สึกเลยว่า นี่เป็นหนังที่ดีมาก ดีจนต้องพูดว่า นี่เป็นหนังระดับ 4 ดาว คือ ยอดเยี่ยม

หนังดูเหมือนจะแบ่งออกเป็น 2 ภาค ภาคแรกเป็นเรื่องของซิดนี่ย์ แซนเบิร์ก กับ ดิพ ปราน แม้ทั้งคู่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงนั้นอย่างผิวเผินเอามากๆ แต่ชีวิตของทั้งสองคนก็สะท้อนภาพเหตุการณ์ความรุนแรงของช่วงนั้นออกมาได้ดีทีเดียว ช่วงครี่งหลัง เป็นการผจญภัยของดิพ ปรานคนเดียว ล้วนๆ ช่วงนี้เข้มข้นมากๆ เพราะทีนี้ตัวดิพ ปราน เข้าไปสัมผัสกับความโหดร้ายของเขมรแดงแบบเต็มตัว และเกือบเอาชีวิตไม่รอด

ดูจบแล้วก็ต้องขอย้ำอีกครั้งว่า นี่เป็นหนังที่ยอดเยี่ยม ตอนดูเราอาจจะติว่า หนังพูดถึงเรื่องการเมืองน้อยมาก แต่คิดดูอีกที สำหรับผมที่ไม่ได้สนใจการเมืองเขมรอะไรอยู่แล้ว หนังแตะเรื่องการเมืองแค่นี้ถือว่าคนเขียนบทฉลาดมากแล้ว เพราะคนดูหนังส่วนใหญ่ในโลกก็เหมือนกับผมละครับ คือไม่สนใจการเมือง ต้องการดูหนังเพื่อความบันเทิง หนังเน้นเรื่องของการผจญภัยของตัวเอกสองตัว ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นทั้งหนังคุณภาพและหนังที่สร้างเพื่อความบันเทิงไปด้วยพร้อมๆกันอย่างลงตัว และอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

สนุกครับ ยิ่งใครเคยดูมาแล้วมาดูซ้ำก็ยังสนุก แต่สำหรับคอหนังวัยรุ่นนี้ ไม่แน่ใจว่าจะสนุกกับหนังเรื่องนี้หรือเปล่า ดูแล้วจะเข้าใจว่าทำไมพอนักข่าวญี่ปุ่นถูกยิงตายในไทย ทางรัฐบาลของเขาถือเป็นเรื่องใหญ่ และทำไมนายกรัฐมนตรีของอังกฤษจึงยกเลิกกำหนดการมาเยือนประเทศไทย และดูจบก็ได้แต่ภาวนาอย่าให้เมืองไทยเป็น The Killing Fields หรือบางทีผมอาจจะลืมไป เพราะบางส่วนของกรุงเทพฯมันเคยเป็น The Killing Fields มาแล้ว

ซื้อหนัง The Killing Fields มาดูเถอะครับ ดูแล้วเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองของเราช่วงนี้ดีจริงๆ

หยงฮ้ง แซ่เตียว
วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น